นนทบุรี ต่อข่าว เทศบาลนครนนท์ ขีดเส้นตายครอบครัวให้อาหารนกพิราบนับพันตัวภายใน 7 วัน
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “รถ 2 คันนี้ จอดทิ้งตายมานานมากๆ ตรงท้ายซอย 8/9 ที่สำหรับกลับรถ พร้อมกับเลี้ยงนกพิราบอีกฝูงใหญ่ๆ ขึ้นกเต็มไปหมด ตากผ้าก็ไม่ได้ ไวรัสคงจะปลิวว่อนไปหมด หายใจไม่สะดวก ใครมีวิธีแก้ไขช่วยแนะนำด้วย แต่อย่าบอกนะว่าต้องคุยกับเจ้าของ คงคุยกันไม่รู้เรื่องเป็นแน่แท้”
โดยเมื่อวานนี้ (วันที่ 11 พ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 3 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว บริเวณหน้าบ้านมีรถยนต์เก๋ง 1 คัน และรถตู้ 1 คัน จอดอยู่ ซึ่งสังเกตเห็นว่าพบขี้นกพิราบเต็มหลังคารถทั้ง 2 คัน มีนกพิราบบินไป-มาที่หน้าบ้าน และในรั้วบ้าน ผู้สื่อข่าวได้พยายามเรียกถามคนในบ้าน พบเป็นผู้ชาย 1 ราย เดินออกมาแต่ไม่พูดอะไรแล้วเดินกลับเข้าบ้านไป
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 67 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขาภิบาลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนนทบุรี ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบที่เกิดเหตุและพยายามตะโกนเรียกเจ้าของบ้านที่ให้อาหารนกพิราบ ที่อยู่ภายในบ้าน แต่ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างใด วันนี้จึงได้ติดประกาศคำสั่งบันทึกการตรวจด้านสาธารณสุขไว้บริเวณประตูรั้วบ้าน และให้เข้าไปพบภายใน 7 วัน
นายโล ศิริพาณิชย์ อายุ 45 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ที่ตรงนั้นนั่งซักพักนกพิราบก็ขี้ใส่หัว และกลิ่นแรงมาก นกพิราบมาเอง แต่ตนก็ไม่ค่อยอยู่บ้านมีแต่คนในซอยที่บ่นเรื่องกลิ่น และเชื้อโรค ตอนนี้กังวลแค่เรื่องกลิ่น ส่วนเจ้าของบ้านหลังนั้นเป็นคนพูดจาดี มีพูดคุยกันบ้างบางครั้ง แต่เขาไม่ค่อยสุงสิงกับใคร
นายปลายพิสุทธิ์ ปกาศิตอนันท์ หัวหน้าฝ่ายสุขาภิบาลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนนทบุรี กล่าวว่า จำนวนนกพิราบที่มีเพิ่มมากขึ้นเกิดจากการที่ชาวบ้านให้อาหารนกพิราบทุกวัน ทำให้นกมาจับกลุ่มรวมกันอยู่ตรงนี้ นกพิราบเป็นสัตว์พื้นถิ่น การให้อาหารนกพิราบเข้าข่ายการผิดพ.ร.บ.สาธารณสุข เราสามารถสั่งให้หยุดการกระทำได้ วันนี้เราได้มาลงพื้นที่และเรียกเจ้าของบ้านแต่ไม่ยอมออกมา จากการสอบถามทราบว่าลูกชายของเจ้าของบ้านออกไปทำงาน น่าจะคุยกับลูกชายได้ ขั้นตอนต่อไปวิธีการทำงานทางเทศบาลจะดำเนินการแปะคำสั่งการตรวจด้านสาธารณสุขให้ เจ้าของบ้านรับทราบว่าทำผิดอะไรและไปพบเจ้าหน้าที่ภายใน 7 วัน หากไม่ไปพบจะพิจารณาดำเนินคดีต่อไป โดยทั่วไปการที่มีสัตว์มาสะสมเยอะๆจำนวนมาก เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโรค เมื่อปีพ.ศ.2564 เราได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบครั้งหนึ่งแล้ว และ.บ้านไม่ให้ความร่วมมือ มีอาการฉุนเฉียวไม่รับคำสั่งเรา ทางตนก็ได้รายงานไปทางเทศบาลว่าได้ให้คำแนะนำไปแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการร้องเรียนอีกเลยโดยปกติแล้วทางเทศบาลจะมีประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนมาประมาณปีละ 4-500 เรื่อง ตนเพิ่งได้ดูข่าวเมื่อเช้าจึงเห็นว่ายังมีปัญหานี้อยู่ และชาวบ้านได้ร้องเรียนผ่านสื่อ จึงลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น