เน้นบทบาท ปชช.มีส่วนในนโยบายสุขภาพ/สนับสนุนมาตรการดูแลกีฬาอีสปอร์ต ป้องโรคเด็ก 4.0
การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 มีฉันทมติเห็นชอบ 4 ประเด็นนโยบายสาธารณะ “สร้างพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง-อีสปอร์ตปกป้องเด็กและเยาวชน -แก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ-บริการทันตกรรม” ผลักดันต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาขับเคลื่อนเชิงนโยบาย นำไปสู่ภาคปฏิบัติ
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจัดงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2561 ได้รับความสนใจจากกลุ่มภาคีเครือข่าย 224 กลุ่มทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,100 คน โดยมีระเบียบวาระใหม่ที่เสนอเข้าการพิจารณาหาฉันทมติใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 2) ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก 3) ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ และ 4) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม
สำหรับการสรุปร่างมติสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 11 ใน 4 ประเด็นดังที่กล่าวมานี้ นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 ได้กล่าวถึงหลักการสำคัญของประเด็น การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า สาระสำคัญของ (ร่าง) มติฯ คือ ให้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการและสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ปลอดภัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน พร้อมพัฒนาแนวทางปฏิบัติผ่านมาตรการผังเมืองและการออกแบบอาคารที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะ เพื่อสุขภาวะและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและเมืองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้าน นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 ได้สรุปสาระสำคัญของ (ร่าง) มติ ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก ว่า โดยสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติหรือมาตรการและแนวทางการบังคับใช้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมอีสปอร์ตที่ปลอดภัย เป็นธรรม เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยต้องมีการแสวงหาข้อมูล ศึกษาผลกระทบ และการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงของอีสปอร์ตอย่างถูกต้องครบถ้วนต่อสังคมทั้งทางด้านบวกและลบ รวมถึงให้มีการจัดทำกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ กลไก และมาตรการในทุกระดับในการควบคุมดูแลและกำกับการประกอบกิจการเกมส์ออนไลน์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะเด็ก
ในส่วนของ น.พ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 กล่าวถึงสาระสำคัญของ (ร่าง) มติ ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ประกอบด้วยแนวทางที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนหลักใน 5 ข้อ ได้แก่ 1) กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคจะร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพและภาคีที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวังและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรอบรู้ด้านสุขภาพ 2) กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมมือกันในการออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการ ที่จะสนับสนุนประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี 3) กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพในทุกกลุ่มวัย 4) กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกแบบชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้สิทธิในการจัดการด้านสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้น 5) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการวิจัยระบบสุขภาพหาเครื่องมือใหม่ๆ และนวัตกรรม เครื่องมือ และการประเมินผลเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ และสนับสนุนให้นำการวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติ
ขณะที่ นางภารณี สวัสดิรักษ์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 เผยถึงสาระสำคัญของ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน และดูแลสุขภาพด้านทันตกรรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ครอบคลุมถึงกลุ่มคนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการควบคุมการขายวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการจัดฟันแฟชั่นและฟันเทียมเถื่อน ให้เป็นเครื่องมือแพทย์เฉพาะสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม พร้อมดำเนินคดีกับผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่น/ผู้ให้บริการทำฟันเทียมเถื่อนในทุกฐานความผิดตามกฎหมายทุกฉบับ และพัฒนาระบบป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเกี่ยวกับการโฆษณาหรือขายเครื่องมือ/วัสดุอุปกรณ์ทางทันตกรรม ตลอดจนการจัดตั้งกองทุนทางทันตกรรมเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากและการเยียวยา รวมถึงสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีบริการทางทันตกรรมและส่งเสริมให้ประชาชนรับบริการทางทันตกรรมขั้นพื้นฐานและมีการร่วมจัดระบบบริการในพื้นที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น