วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สภท. จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC

 สภท. จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC

 


สภท. ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน EEC อบก. และ กฟผ. จัดสัมมนาสื่อมวลชนภูมิภาค มุ่งสื่อสารความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า และการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชี้โรงไฟฟ้าและระบบส่งที่มั่นคงและเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

 

วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาสื่อมวลชน หัวข้อ “ความสำคัญของพลังงานไฟฟ้ากับการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง” โดยมีสื่อมวลชนจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เข้าร่วม ณ โรงแรม ซีทู พูล วิลล่า รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี 




นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านศูนย์กลางของระบบคมนาคมและขนส่งสินค้าของประเทศ การพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตพร้อมสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนหรือสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย

 


ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ว่า EEC เป็นโครงการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าขนส่ง การสร้างเขตส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ทันสมัย และการศึกษาการจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่อุตสาหกรรม ปัจจุบันมีผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 1.3 ล้านราย มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดราว 4,000 เมกะวัตต์ หรือ 15% ของประเทศ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 6,000 เมกะวัตต์ และรองรับการขยายตัวได้อีก 2,000 เมกะวัตต์ โดยภาคที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม และจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือจังหวัดชลบุรี จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่สำคัญในพื้นที่ใกล้เคียงในพื้นที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี โรงไฟฟ้า              พระนครใต้ จ.สมุทรปราการ และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ของ กฟผ. รวมถึงโรงไฟฟ้าเอกชนต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต

 


น.ส.ชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 13 เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน โดยในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ร้อยละ 8.4 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567 – 2580 (PDP2024) เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ

 


นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยปล่อยก๊าซ CO2 รวมทุกสาขา ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของประเทศได้

 


นายสมโชค พาหุบุตร ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างขยายและเสริมความมั่นคงระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. สนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้สามารถเดินหน้าและบรรลุตามวัตถุประสงค์พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกหลายโครงการ ได้แก่ สายส่ง 230 กิโลโวลต์ (kV) ชลบุรี 2 - บ่อวิน สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง สถานีไฟฟ้าแรงสูงศรีราชา สถานีไฟฟ้าแรงสูงอ่าวไผ่ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าและการส่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ EEC รวมถึงเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่สำคัญของ กฟผ. ในการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ผสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสีเขียว เพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป



ด้าน นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.60ปี) กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “วัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ นับว่าเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะสื่อมวลชนจาก 5 จังหวัด สามารถเสริมสร้างภาคีเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ดีร่วมกัน และเป็นการสัมมนาที่เป็นประโยชน์กับสื่อมวลชน โดยจะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ Upskill ให้กับคณะสื่อมวลชน  ที่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง, การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC  และ เข้าใจบทบาทของ EEC ในทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปถ่ายทอดเป็นสื่อ เพื่อนำเสนอให้กับประชาชนรับรู้ รับทราบต่อไป 





____


#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น