วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567

นายบุญร่วม อินทสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุข เข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 สุรินทร์ -  เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายบุญร่วม อินทสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุข เข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้มอบโล่รางวัลดังกล่าว












องค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุขได้รับรางวัลชมเชย ประเภททั่วไป ซึ่งนอกจากจะได้รับโล่รางวัลแล้ว ยังได้รับเงินรางวัลสนับสนุนจากการประกวดจำนวน 900,000 บาท โดยในครั้งนี้มีนายสมบัติ สีนวน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุข นายเรืองฤทธิ์เทียนแก้ว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุข นายวีรศักดิ์ มนฑา เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีสุข พร้อมด้วยผู้อำนวยการกอง หัวหน้าสำนักปลัด พนักงานส่วนตำบล พนักงานจ้าง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีครั้งนี้


/ทีมข่าวประชาเสรี ออนไลน์

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สภท. จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC

 สภท. จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC

 


สภท. ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน EEC อบก. และ กฟผ. จัดสัมมนาสื่อมวลชนภูมิภาค มุ่งสื่อสารความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า และการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชี้โรงไฟฟ้าและระบบส่งที่มั่นคงและเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

 

วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาสื่อมวลชน หัวข้อ “ความสำคัญของพลังงานไฟฟ้ากับการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง” โดยมีสื่อมวลชนจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เข้าร่วม ณ โรงแรม ซีทู พูล วิลล่า รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี 




นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านศูนย์กลางของระบบคมนาคมและขนส่งสินค้าของประเทศ การพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตพร้อมสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนหรือสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย

 


ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ว่า EEC เป็นโครงการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าขนส่ง การสร้างเขตส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ทันสมัย และการศึกษาการจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่อุตสาหกรรม ปัจจุบันมีผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 1.3 ล้านราย มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดราว 4,000 เมกะวัตต์ หรือ 15% ของประเทศ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 6,000 เมกะวัตต์ และรองรับการขยายตัวได้อีก 2,000 เมกะวัตต์ โดยภาคที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม และจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือจังหวัดชลบุรี จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่สำคัญในพื้นที่ใกล้เคียงในพื้นที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี โรงไฟฟ้า              พระนครใต้ จ.สมุทรปราการ และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ของ กฟผ. รวมถึงโรงไฟฟ้าเอกชนต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต

 


น.ส.ชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 13 เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน โดยในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ร้อยละ 8.4 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567 – 2580 (PDP2024) เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ

 


นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยปล่อยก๊าซ CO2 รวมทุกสาขา ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของประเทศได้

 


นายสมโชค พาหุบุตร ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างขยายและเสริมความมั่นคงระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. สนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้สามารถเดินหน้าและบรรลุตามวัตถุประสงค์พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกหลายโครงการ ได้แก่ สายส่ง 230 กิโลโวลต์ (kV) ชลบุรี 2 - บ่อวิน สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง สถานีไฟฟ้าแรงสูงศรีราชา สถานีไฟฟ้าแรงสูงอ่าวไผ่ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าและการส่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ EEC รวมถึงเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่สำคัญของ กฟผ. ในการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ผสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสีเขียว เพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป



ด้าน นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.60ปี) กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “วัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ นับว่าเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะสื่อมวลชนจาก 5 จังหวัด สามารถเสริมสร้างภาคีเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ดีร่วมกัน และเป็นการสัมมนาที่เป็นประโยชน์กับสื่อมวลชน โดยจะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ Upskill ให้กับคณะสื่อมวลชน  ที่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง, การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC  และ เข้าใจบทบาทของ EEC ในทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปถ่ายทอดเป็นสื่อ เพื่อนำเสนอให้กับประชาชนรับรู้ รับทราบต่อไป 





____


#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ฝนกำลังจะหมดฝุ่นกำลังจะมา”

 สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ฝนกำลังจะหมดฝุ่นกำลังจะมา” 



โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23–30 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,330 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรับมือฝุ่น PM 2.5 จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิธีการลดการรับฝุ่น PM 2.5 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 98.35 ระบุว่า ใช้หน้ากากอนามัย มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 54.29 ระบุว่า ปิดประตูหน้าต่าง ร้อยละ 48.37 ระบุว่า ลดกิจกรรมนอกอาคาร และร้อยละ 27.81 ระบุว่า ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความสำคัญของการลดฝุ่น PM 2.5 อย่างยั้งยืนตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ร้อยละ 78.67 ระบุว่า มีความสำคัญอยู่ในระดับมาก มากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 14.29 ระบุว่า มีความสำคัญอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 7.04 ระบุว่า มีความสำคัญอยู่ในระดับน้อย น้อยที่สุด เมื่อสอบถามแนวทางลดฝุ่น PM 2.5 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ร้อยละ 45.33 ระบุว่า การควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 33.41 ระบุว่า การจัดการปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้ง และร้อยละ 21.26 ระบุว่า การควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อพิจารณาหน่วยงานที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาลดฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด พบว่า ร้อยละ 34.33 ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษ มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 30.45 ระบุว่า กรมการขนส่งทางบก ร้อยละ 24.71 ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และร้อยละ 10.51 ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 


ดร.ธนเสฎฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส

อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล

โทรศัพท์ มือถือ 089-474-9514


สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โทรสาร02-878-5002

E-mail:siamtechno_poll@siamtechno.ac.th

ตี๋สมเด็จ/รายงาน

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “หาบเร่แผงลอยกับคนต่างด้าวใน กทม.”

 สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “หาบเร่แผงลอยกับคนต่างด้าวใน กทม.” 



จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการเคยซื้อสินค้าจากหาบเร่แผงลอยที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของของประชาชนในกรุงเทพมหานคร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.63 ระบุว่า เคยซื้อ มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 20.37 ระบุว่า ไม่เคยซื้อ เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานครต่อคุณภาพสินค้าหาบเร่แผงลอยที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ พบว่า  ร้อยละ 33.31 ระบุว่า พอใช้ มากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 28..47 ระบุว่า ปานกลาง ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครตัดสินใจซื้อสินค้าจากหาบเร่แผงลอยที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ พบว่า ร้อยละ 55.33 ระบุว่า ไม่รู้มาก่อนว่ามีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 24.61 ระบุว่า สถานที่ตั้งสะดวกต่อการซื้อ ประชาชนในกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับหาบเร่แผงลอยที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ ร้อยละ 88.96 ระบุว่า ไม่สนับสนุน มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 8.33 ระบุว่า สนับสนุน ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 27.81 ระบุว่า กังวลเรื่องการกระทำผิดทางกฎหมาย มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 25.37 ระบุว่า กังวลเรื่องความสะอาดของสินค้า ร้อยละ 22.61 ระบุว่า กังวลเรื่องการเข้ามาครอบครองตลาด ร้อยละ 13.53 ระบุว่า กังวลเรื่องมาตรฐานของสินค้า และร้อยละ 10.68 ระบุว่า กังวลเรื่องการชำระภาษ๊


ดร.ธนเสฎฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส

อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล

โทรศัพท์ มือถือ 089-474-9514


สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โทรสาร02-878-5002

E-mail:siamtechno_poll@siamtechno.ac.th

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จัดพิธีทิ้งกระจาด แจกเครื่องอุปโภคบริโภคและชุดยาสามัญประจำบ้านแก่ผู้ยากไร้ รวม 1,388 ชุด

 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จัดพิธีทิ้งกระจาด แจกเครื่องอุปโภคบริโภคและชุดยาสามัญประจำบ้านแก่ผู้ยากไร้ รวม 1,388 ชุด 

.


วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการฯ พร้อมด้วย นายสุหัทย์ ไพรสานฑ์กุล กรรมการฯ นายอรัณย์ โตทวด ผู้จัดการใหญ่มูลนิธิฯ  นายวันชิด ศิรสีห์ รองผู้จัดการใหญ่ และ นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ร่วมกับวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร นำโดย พระธรรมวชิรปาโมกข์ และ พระศรีวชิรธรรมถาวร รองอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส จัดชุดเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช น้ำตาล ซอสปรุงรส (ซอสถั่วเหลือง) นมกล่อง น้ำดื่ม ขนม ชุดยาสำเร็จรูป ฯลฯ รวมจำนวน 1,388 ชุด เพื่อประกอบพิธีทิ้งกระจาด (ซิโกว) นำแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้ ในการนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัคร อำนวยความสะดวกแก่วัดและประชาชนที่มาร่วมงาน ณ บริเวณเมรุด้านใต้ (สุสานหลวง) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ







ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง www.facebook.com/pohtecktungofficial

.













มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418

#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

ตี๋สมเด็จ/รายงาน

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรี แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดลำพูน พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี

 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรี แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดลำพูน พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี

.


วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย นางจินดา บุญลาภทวีโชค กรรมการตรวจสอบ นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และ นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมลงพื้นที่จังหวัดลำพูน มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อยมีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ รวมกันทั้งหมด 3 แห่ง ประกอบด้วย  ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน  ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง และ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย รวมจำนวน 25 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น จำนวน 493,074 บาท (สี่แสนเก้าหมื่นสามพันเจ็ดสิบสี่บาทถ้วน) พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์ จำนวน 10 คัน และไม้เท้าวอล์คเกอร์ 4 ขา จำนวน 5 อัน รวมมูลค่า 33,500 บาท  โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางรชยา ฮั่นตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดลำพูน  นายพงษ์ศักดิ์ ชูชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดลำปาง และ นางสาวอัจฉพรรณ ทับทิมทอง ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดเชียงราย ร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชน ฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน

.





.

นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ โดยมูลนิธิฯ มุ่งหวังในการช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างชีวิต ให้กับสตรีได้นำวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป  โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย และจังหวัดพิษณุโลก โดยในขณะนี้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีแล้วทั้งสิ้น 10 แห่ง รวม 88 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 1,730,013 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสิบสามบาทถ้วน)

.







ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา  เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ต่อไป 

.






ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง www.facebook.com/pohtecktungofficial

.





มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418

#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

ตี๋สมเด็จ/รายงาน