วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

กรมศุลกากรยึดเฮโรอีน เตรียมลักลอบส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ทางพัสดุไปรษณีย์ มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท

             วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567



กรมศุลกากรยึดเฮโรอีน เตรียมลักลอบส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย

ทางพัสดุไปรษณีย์ มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท


กรมศุลกากรตรวจยึดเฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์ น้ำหนัก 7,181 กรัม

เตรียมส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท  ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ



วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด และเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันผู้กระทำความผิดมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนวิธีการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดหลากหลายรูปแบบและลดปริมาณให้น้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด




กรมศุลกากรร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCEประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปราม

ยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง

การลักลอบนำยาเสพติดซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์ เตรียมนำเข้า – ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร




โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 กรมศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม และชุดปฏิบัติการ AITF ตรวจยึดยาเสพติดที่เตรียมการลักลอบส่งออกไปนอกราชอาณาจักร                ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศมีความเสี่ยงสูง สำแดงชนิดสินค้า เป็น “CREAM”        จำนวน 2 หีบห่อ น้ำหนักรวม 22.480 กิโลกรัม ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ        ผลปรากฏว่า พบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 7,181 กรัม มูลค่า 21,543,000 บาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อติดตามและขยายผลต่อไป




โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรณีนี้เป็นความผิดมาตรา 242 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด       สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567)   มีทั้งหมด 64 ราย มูลค่ารวม 351,328,004 บาท




ตี๋สมเด็จ/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น