เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผลกระทบจาก AI ในปี 68”
สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผลกระทบจาก AI ในปี 68” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม - 31 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า ผลกระทบของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI ในปี 68 จะส่งผลดีต่อสังคมโดยภาพรวม (เพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน) ร้อยละ 40.13 รองลงมา ระบุว่า จะส่งผลเสีย (ลดความมั่นคงของงานและเพิ่มความเหลื่อมล้ำ) ร้อยละ 35.25 และระบุว่า จะส่งผลทั้งดีและเสีย ร้อยละ 24.62 น้อยที่สุด โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ AI ในกระบวนการทำงานขององค์กร โดยระบุว่ามีความกังวลมาก (AI อาจแทนที่แรงงานมนุษย์) ร้อยละ 48.93 รองลงมาระบุว่า มีความกังวลปานกลาง (ต้องปรับตัวเพื่อร่วมงานกับ AI) ร้อยละ 37.81 และระบุว่าไม่กังวล (AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานของมนุษย์) ร้อยละ 13.97 น้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงประเด็นใดเกี่ยวกับ AI ที่ควรให้ความสำคัญที่สุดในปี 68 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ร้อยละ 32.73 รองลงมาระบุว่า การพัฒนาทักษะของมนุษย์ให้ทำงานร่วมกับ AI ร้อยละ 29.61 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทาง "Human-Centric AI" ที่เน้นให้ AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนมนุษย์ ระบุว่า เห็นด้วยมาก (AI ควรช่วยเพิ่มศักยภาพของมนุษย์) ร้อยละ 52.33 รองลงมาระบุว่า เห็นด้วย (ควรนำ AI มาช่วยงาน แต่ยังต้องพึ่งมนุษย์) ร้อยละ 33.25 ไม่เห็นด้วย (AI ควรทำงานแทนมนุษย์ในบางด้าน) ร้อยละ 11.47 และระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 2.95 น้อยที่สุด
ดร.ธนเสฎฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส
อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล
โทรศัพท์ มือถือ 089-474-9514
สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โทรสาร02-878-5002
E-mail:siamtechno_poll@siamtechno.ac.th
ตี๋สมเด็จ/รายงาน